Category Archives: GreenPlanet

การเกษตร

Update เมล่อน

Update เมล่อน

วันนี้มาอับเดตเมล่อนที่ผมปลูกอยู่ให้ฟังกันครับ เมล่อนต้นนี้ผมเริ่มปลูกช่วงประมาณ
กลางเดือนพฤษภาคม ตอนที่ปลูกก็ไม่ได้คิดว่ามันจะรอดนะ เพราะช่วงเดือนนั้นก็รู้กัน
อยู่ว่าอากาศร้อนมาก ตอนที่เริ่มเพาะเมล็ดก็ทำใจไว้แล้วว่ามันอาจจะไม่รอด แต่พอได้
เห็นตอนที่มันรอดผ่านช่วงนั้นมาได้ก็ชื่นใจครับ ตอนนี้นับเวลาผ่านไปแล้วก็ประมาณ
75 วันได้แล้ว ต้นเมล่อนก็ออกลูกขึ้นลายเรียบร้อยแล้ว คิดว่าไม่เกิน 2 อาทิตย์ก็คงได้
ตัดออกมาลองชิมดูว่ารสชาติจะหวานขนาดไหน ขนาดลูกก็ไม่ใหญ่มากน่าจะ 0.6 กิโล
แต่ถ้าเทียบกับที่คนอื่นเขาปลูกก็ถือว่าลูกเล็กมากนะ ผมเห็นเขาได้กัน 1 – 2 กิโลขึ้น
ทั้งนั้นเลย

ตัวผมเองปลูกเมล่อนจนออกลูกได้กินมาก็หลายรอบ แต่ส่วนใหญ่ลูกที่ได้จะไม่ค่อยใหญ่
แล้วที่สำคัญคือรสชาติไม่ค่อยหวานเลย สาเหตุของเรื่องนี้ผมคิดว่าเรื่องของปุ๋ยก็มีส่วนนะ
เพราะผมไม่ได้ใส่ปุ๋ยเร่งหวานเลย(ปุ๋ยโพแทสเซียม) ผมใช้แต่สูตรเสมอ (21-21-21)
ผมใส่มาตั้งแต่ตอนเริ่มปลูก แล้วก็ใส่มาตลอดจนมันออกลูกก็ยังใช้สูตรเสมอใส่มาเรื่อยๆ
อีกเรื่องคือช่วงที่ผ่านมา 1-2 อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ฝนตกบ่อยมากแทบจะไม่ค่อยมีแดดเลย
เมล่อนเป็นพืชชอบแสงแดด แต่พอมันไม่ค่อยเจอแดดจัดๆก็ทำให้มันหาอาหารได้น้อยลง
ผมคิดว่ามันก็มีส่วนนะ ปลูกหน้าฝนก็ต้องทำใจนะ รอหน้าหนาว ผมจะลุยหนักๆหลายๆ
ต้นเลย คราวนี้คงจะได้ประสบการณ์อีกเพียบ

ดอกเมล่อน

ดอกเมล่อน

ดอกเมล่อน

เมล่อนเป็นพืชตระกูลแตงที่มีดอกทั้งแบบ ดอกสมบูรณ์เพศ และ ดอกไม่สมบูรณ์เพศ
แยกออกเป็นดอกเพศผู้ กับ ดอกเพศเมีย ทำให้ไม่สามารถผสมในดอกตัวเองได้ต้อง
อาศัยแมลง หรือ มนุษย์ ในการช่วยผสมเกสร โดยส่วนใหญ่แล้วดอกเมล่อนมักจะออก
ดอกแบบไม่สมบูรณ์เพศเป็นส่วนใหญ่

เมื่อเริ่มปลูกเมล่อนไปได้ซักระยะเวลาหนึ่งมันก็จะเริ่มออกดอก โดยดอกตัวผู้มักจะ
ออกดอกก่อนดอกตัวเมียเป็นส่วนมาก ถ้าเราสังเกตดูตามข้อเมล่อนดอกตัวผู้มักจะแย่ง
กันขึ้น แต่ดอกตัวเมียจะเริ่มออกดอกทีหลัง การสังเกตว่าดอกไหนเป็นดอกตัวผู้หรือ
ว่าเป็นดอกตัวเมียก็ไม่ยากครับ

กรณีดอกตัวผู้ให้ดูตามภาพเลยครับจะอยู่ทางซ้ายมือ ดอกจะออกมาตามข้อของลำต้น
จะออกมาเกือบทุกข้อเลยก็ว่าได้ ส่วนดอกตัวเมียนั้นก็ตามภาพนะครับดูรูปทางขวามือ
ดอกตัวเมียจะออกมาจากกิ่งแขนง และสิ่งที่ต่างจากดอกตัวผู้ก็คือที่ดอกตัวเมียจะมี
รังไข่อยู่ใต้กลีบดอก ที่เราเห็นกลมๆใหญ่ๆนั้นแหละครับคือรังไข่ของมัน การผสมเกสร
นั้นก็ไม่ยากครับ ให้นำระอองเรณูจากดอกตัวผู้(อาจจะใช้พู่กันเขี่ยก็ได้) แล้วนำมาป้าย
ที่ดอกเกสรตัวเมียแค่นั้นเองครับ แต่ต้องรีบทำหน่อยนะครับเพราะดอกเมล่อนจะบาน
ในช่วงเวลาเช้าๆ 7 – 9 โมง หลังจากนั้นก็จะเริ่มหุบ และถ้าจะรอผสมช่วงบ่ายอาจจะ
อดได้นะครับ เพราะดอกจะหุบหมดแล้วแนะนำให้ทำช่วงเช้าครับจะชัวร์กว่า

หนอนชอนใบเมล่อน

หนอนชอนใบเมล่อน

หนอนชอนใบ

ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่พึ่งเริ่มปลูกเมล่อนแบบผมก็คือ ผมเจอปัญหาเกี่ยวกับบริเวณใบมันมีเส้น
เหมือนมีอะไรมาขีดทำเครื่องหมายเอาไว้ ผมเลยลองมาหาคำตอบในอินเตอร์เน็ตดูก็พบว่ามันคือ
หนอนชอนใบ คือที่ใบมันจะมีลักษณะเหมือนมีเส้นสีขาวขึ้นบนใบวนไปวนมา ตอนแรกก็นึกว่าใคร
มาทำอะไรไว้ที่ใบ แต่พอลองสังเกตทุกวันจะเห็นว่าเส้นมันจะยาวขึ้นและก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
จนผ่านไป 4-5 วันจะพบว่าเริ่มเห็นตัวหนอนเล็กๆสีเหลือง ต้องสังเกตนะครับเนื่องจากว่าตัวมันจะ
เล็กมาก พวกมันจะกินใบเมล่อนจากภายในใบ อยากเห็นต้องสังเกตดีๆถึงจะเห็นตัวของมัน

หนอนชอนใบเมล่อน

หนอนชอนใบเมล่อน แท้จริงแล้วมันคือตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนครับ เริ่มมาจากผีเสื้อกลางคืนบิน
มาไข่ไว้ตามใบเมล่อนในช่วงกลางคืน หลังจากนั้น 1 – 2 วันก็ฝักเป็นหนอนตัวอ่อนแล้วก็เริ่มชอน
เข้าในใบเมล่อน กินใบเมล่อนอยู่ 7 – 10 วัน หลังจากนั้นจะเข้าระยะดักแด้อยู่ในใบเมล่อน 3 – 5 วัน
ก่อนฟักออกเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กตัวเต็มวัย แต่ความอันตรายของหนอนชอนใบจัดว่าไม่ได้
อันตรายมากเหมือนศัตรูเมล่อนตัวอื่นๆครับ ถ้าโดนในช่วงเมล่อนติดลูกก็อาจจะทำให้ลูกโตช้าลง
ปัญหาหลักเลยคือมันทำให้ใบสังเคราะห์แสงได้น้อยลง ถ้าในใบโดนหนอนชอนใบกินมากหลายตัว
ก็ควรรีบจัดการหายามาฉีด หรือไม่ก็อาจจะเด็ดใบทิ้งแล้วเผาไฟก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสะดวกแบบไหน